5 นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานดีเด่น
‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญของประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมทุกปี โดยวันนี้มีความสำคัญและมีความหมาย คือ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงในปี พ.ศ.2411 สำหรับบทความนี้ เราจะมาแนะนำให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จักกับ 5 นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ซึ่งสามารถสร้างผลงานอันโดดเด่น จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าขานจนถึงปัจจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ ท่านทรงมีความเชี่ยวชาญเทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์สากลเลยทีเดียว ผลงานทางของท่าน ได้แก่ งานวิจัย รวมทั้งการสถาปนาเวลามาตรฐาน ท่านทรงคำนวณเหตุการณ์สำคัญไว้ล้วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ท่านสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ จนถึงขนาดได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ท่านทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ผู้สร้างผลงานกึกก้องไปทั่วโลกในวิชา สารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ท่านทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2530 สร้างห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง รวมทั้งท่านยังเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เภสัชกรหญิง ผู้มีจิตเมตตาเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยการเดินทางไปผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการวิจัยยาต้านเอดส์ จนถึงขนาดสามารถผลิตยา ‘ยาเอดส์’ ได้เป็นครั้งแรก ท่านประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อเอดส์ ชื่อ Afrivir หลังจากนั้นท่านก็สามารถวิจัยผลิตยา ชื่อ Thai-Tanzunate ในประเทศแทนซาเนียได้สำเร็จ โดยยานี้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ผลงานอันโดดเด่นรวมทั้งการอุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของดร.กฤษณา ได้รับความสนใจในวงกว้าง จนถึงขนาดนำมาสร้างเป็นชีวประวัติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี
ท่านเป็นทั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ , กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล , กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุข และนักวิชาการทางการศึกษา ท่านมีคุณงามดีเป็นผู้สนับสนุนงานค้นคว้าวิจัยต่างๆ ผลงานสำคัญ คือ ค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคแอลฟ่าธาลัสซีเมีย และได้รับรางวัลใน ปีพ.ศ.2526
ศาสตราจารย์ ดร.ถาวร วัชราภัย
ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2532 สาขาพฤกษศาสตร์ โดนผลงานของท่าน คือ เป็นผู้ค้นพบการเกิดใหม่ของดอกกล้วยไม้อันมีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเกิดการผกผันแปรของเซลล์ร่างกายในต้นที่ขยายพันธุ์ โดนท่านเป็นคนแรกที่รายงานปรากฏการณ์นี้ เมื่อปีพ.ศ.2515